134 ปี จากศาลาแยกธาตุ... สู่กรมวิทย์ฯ บริการ ก้าวสู่ยุคใหม่เดินหน้าขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพระดับชาติ พร้อมนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน
ต้นกำเนิดแห่งการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของไทย
กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 134 ปี จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในชื่อ “สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่” ภายใต้กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2434 โดยมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์แร่เพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ ต่อมาได้รับการยกระดับเป็น “ศาลาแยกธาตุ” ในปี พ.ศ. 2466 สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ก่อนจะพัฒนาเป็น “กรมวิทยาศาสตร์” ในปี พ.ศ. 2522 และปรับเปลี่ยนสู่ “กรมวิทยาศาสตร์บริการ” ในปัจจุบัน โดยอยู่ภายใต้กระทรวง อว. และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 134 อย่างมั่นคง
เดินหน้าขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพระดับชาติ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา กรมวิทย์ฯ บริการได้เดินหน้าขับเคลื่อน National Quality Infrastructure (NQI) เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นกลไกสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์มาพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน
ก้าวสำคัญในปี 2567 คือการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งให้ คงสถานะกรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นหน่วยงานราชการสำคัญ เพื่อให้สามารถดำเนินงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายสู่ระดับโลก ยกระดับไทยสู่ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์
กรมวิทย์ฯ บริการ ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความสามารถด้านการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อยู่ใน อันดับ 1 ใน 10 ของโลกภายในปี 2572 พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมี ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับระดับโลกเป็นอันดับที่ 5 และได้รับรางวัลวิจัยระดับเหรียญทองในเวทีนานาชาติ
นอกจากนี้ กรมวิทย์ฯ บริการยังนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล แก้ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดและปลอดภัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยพิบัติผ่าน ศูนย์ปฏิบัติการ “ผู้พันวิทย์ อว.” ซึ่งให้ความรู้และแนวทางป้องกันอุทกภัย
กรมวิทย์ฯ บริการ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม” ขยายขอบข่ายของ “ศูนย์บริการให้คำปรึกษา อว. อย. และ สมอ.” เพื่อให้บริการด้านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร
นวัตกรรมเพื่ออนาคต เตรียมไทยสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
กรมวิทยาศาสตร์บริการกำลังก้าวสู่ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยจัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ” พร้อมพัฒนา CAV Proving Ground ในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นสนามทดสอบระบบอัตโนมัติระดับ SAE AV Level 3-5 รองรับการทดสอบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและเทคโนโลยีเชื่อมต่อ 5G Private Network
โครงการนี้จะช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการ ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับระดับสากล โดยสามารถรองรับการทดสอบจากต่างประเทศก่อนนำไปใช้งานจริงบนถนน อีกทั้งยังเป็น กลไกสำคัญในการลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
กรมวิทยาศาสตร์บริการยังคงเดินหน้า เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ โดยการนำ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ ประเทศชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
0 Comments