วช. ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย บรรยายพิเศษ RUN towards IMPACT เน้นผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) จัดบรรยายพิเศษเรื่อง "RUN towards IMPACT" โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ ดร.ดอกรัก มารอด ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) กล่าวรายงาน และมี ผู้แทนมหาวิทยาลัยเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย คณาจารย์ และนักวิจัย เข้าร่วมฟังการบรรยาย ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University
Network: RUN) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศด้านวิจัย ทั้ง 8 แห่ง ได้ผนึกกำลังมุ่งทำงานด้วยการรวบรวมองค์ความรู้ ความสามารถจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย สร้างการแบ่งปันองค์ความรู้ เน้นทำงานร่วมกันเป็นทีม ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน และในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปีนี้ได้จัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม บรรยายพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "RUN towards IMPACT" โดยมีการบรรยายพิเศษภายใต้ Concept "SDG" : Soft Power (S) Deep Science and Technology (D) และ Global Trends (G) ซึ่งองค์ความรู้ ทั้ง 3 ด้านล้วนเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของประเทศในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.ดอกรัก มารอด กล่าวว่า ความสำเร็จของเครือข่ายในการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นกว่า 24 ผลงาน ภายใต้แนวคิด "RUN towards IMPACT" ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการแล้ว RUN ยังได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ ความสำคัญของ "อำนาจละมุน" หรือ Soft power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการนำเสนอมุมมองของภาคเอกชนต่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง และบทบาทของ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง ซึ่งประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ RUN ในการส่งเสริมให้ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
การบรรยายพิเศษครั้งนี้ได้นำเสนอมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
* อำนาจละมุน (Soft power) โดย หม่อมหลวงภาสกร อาภากร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของวัฒนธรรมไทยในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างแบรนด์ประเทศให้แข็งแกร่ง
* การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดย นายดำเกิง ทองซ้อนกลีบ บริษัทเกรด อินดีด จำกัด ได้เน้นย้ำความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันวิจัย เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
* AI และดิจิทัล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ผลเพิ่ม รองอธิการบดีฝ้ายเทคโนโลยีดิจิทัลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชูมุมมองศักยภาพของ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาโลกและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของสังคม
การบรรยายวันนี้ สะท้อนความพยายามของ RUN ในการผลักดันให้งานวิจัยสามารถนําไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
0 Comments