ม.มหาสารคาม - สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คว้าถ้วยรางวัล Platinum Award สุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 67
วันที่ 30 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2024 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร โดยได้รับเกียรติจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปิดงานและเป็นผู้มอบถ้วยรางวัล ประเภท รางวัล Platinum Award รางวัล Gold Award รางวัล Silver Award รางวัล Bronze Award และรางวัลชมเชย พร้อมเกียรติบัตรแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัล โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เป็นผู้มอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)”ณ เวที Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ครั้งที่ 19 ในปีนี้จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 5 วัน มีผู้สนใจ เข้าชมงานเป็นจำนวนมากอันแสดงให้เห็นว่างานวิจัยได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งพลังแห่งการขับเคลื่อนผลงานวิจัยครั้งนี้ ด้วยกลไกการเผยแพร่และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากการวิจัยโดยการนำเสนอผลงานวิจัยระดับประเทศ มีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้ต่อยอดงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ต่อไปในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญในการนำเสนอผลงานวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพ เข้าร่วมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” และได้จัดให้มีกิจกรรม Thailand Research Expo 2024 Award ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยขยายผลการนำผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
รางวัล Platinum Award จำนวน 2 รางวัล ผู้รับรางวัลจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 150,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยผลงาน “จักรวาลข้าวไทยเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG”
- สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยผลงาน “การสร้างคุณค่าจากหอยเชอรี่สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
รางวัล Gold Award จำนวน 4 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 100,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่
- มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยผลงาน “มวยไทยเมืองลุง”
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยผลงาน “นวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทยจากตำรับยาอดยาบ้าเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ติดสารเสพติดในระบบบริการสาธารณสุข”
- สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยผลงาน “การประยุกต์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการรักษาคุณภาพทุเรียนเเช่เยือกเเข็งเพื่อการส่งออก”
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยผลงาน “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเห็ดออกฤทธิ์เชิงยาและการเพิ่มมูลค่าเพื่อการผลิต ส่วนประกอบอาหารเชิงฟังชันก์และอาหารแห่งอนาคต”
รางวัล Silver Award จำนวน 6 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 70,000 บาท และเกียรติบัตร ตามลำดับ ได้แก่
- มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยผลงาน “ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากกระถินและฮิวมัสล้านปีลำปางเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนบนฐาน BCG”
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยผลงาน “พลิกฟื้นทุนวัฒนธรรมของเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์แห่ง UNESCO”
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยผลงาน “นวัตกรรมการเลี้ยงหอยนางรมเพื่อพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดตรังอย่างยั่งยืน”
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผลงาน “การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง”
- โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โดยผลงาน “การวิจัยประเมินผลเชิงพัฒนาเพื่อระบบบริการสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อผ่านนโยบาย “๓๐ บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว””
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยผลงาน “การวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย : เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม”
รางวัล Bronze Award จำนวน 8 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (4 รางวัล) ถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (4 รางวัล) พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท และเกียรติบัตร ตามลำดับ ได้แก่
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยผลงาน “ปลาดุกบิ๊กอุยเพิ่มกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูงที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”
- การไฟฟ้านครหลวง โดยผลงาน “ผลิตภัณฑ์จานรองแก้วซึมน้ำจากวัสดุผงเซรามิกแปรสภาพของขยะลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยผลงาน “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี”
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลงาน “การพัฒนานวัตกรรมสเต็มเซลล์สู่มาตรฐาน GMP (Revolutionizing Medicine: Stem Cells Innovation and the Journey to Good Manufacturing Practices (GMP))”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยผลงาน “นวัตกรรมการผลิตข้าวหอมมะลิระยะเม่าครบวงจรสู่การยกระดับอาชีพและรายได้ชาวนาไทย”
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยผลงาน “เครื่องมือจำลองการติดตั้ง Solar PV Rooftop และจำลองการติดตั้งมิเตอร์ TOU”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยผลงาน “การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าโคนมด้วยข้อต่อใหม่สำคัญ “ธุรกิจอาหารสัตว์ชุมชน”: จากฐานทรัพยากรในพื้นที่สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น”
- สถาบันวิทยสิริเมธี โดยผลงาน “ระบบถังหมักสุดดีเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชนและสารบำรุงพืชชีวภาพไบโอวิส”
รางวัลชมเชย จำนวน 12 รางวัล ผู้รับรางวัลจะได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก โดยผลงาน “การยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปจากมังคุดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออก”
- มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยผลงาน “การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีชูจังหวัดนราธิวาสเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยผลงาน “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยการใช้ทรัพยากรพื้นถิ่นจากยอดเขาสูงและปากอ่าวทะเลไทย”
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยผลงาน “นวัตกรรมเตาผลิต Carbo Char และการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ทางการเกษตร ตามแนวทาง BCG ECONOMY MODEL”
- กรมทางหลวง โดยผลงาน “การศึกษาการเสริมกำลังสะพานกรมทางหลวงรุ่นเก่าประเภทคานตัวทีโดยวิธีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
- มหาวิทยาลัยพะเยา โดยผลงาน “แม่อิงชิโบริโมเดล”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยผลงาน “การพัฒนาสื่อการเรียนรู้พื้นฐานนาฏศิลป์ไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา”
- กรมควบคุมโรค โดยผลงาน ““ทันระบาด” ชุดซอฟต์แวร์สนับสนุนการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกเชิงรุก”
- กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม โดยผลงาน “ปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร (MOD2020)”
- มหาวิทยาลัยบูรพา โดยผลงาน “การยกระดับชุมชนประมงพื้นบ้านเพื่อการจัดการธนาคารปูม้าอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ณ ธนาคารปูม้ากลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด จังหวัดระยอง”
- มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยผลงาน “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ”
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยผลงาน “Lineman Lift”
ทั้ง วช. ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ในปีนี้ โดย วช. หวังว่าการมอบรางวัลดังกล่าวจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและศักยภาพสู่การแข่งขันในระดับเวทีระดับชาติและนานาชาติ ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน”
0 Comments