สสว.เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ปีที่ 3
สสว. เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันเข้าสู่ระบบ BDS “Business Development Service for Sustainable: BDS for Sustainable” หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ปี 2567 ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ภาครัฐ และเอกชน ผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) และผู้ประกอบการร่วมงานคับคั่งภายในงาน ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ได้รับเกียรติจาก นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ และ นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมด้วยผู้บริหาร สสว. นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานสภาหอการค้าไทย และนายวัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัดตลอดจนพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) ท่ามกลางผู้ประกอบการร่วมงานจำนวนมาก
ในช่วงเช้าจัดให้มี TED Talks หัวข้อ Sustain Thai SME ด้วย BDS ภายใต้แนวคิด “Business Development Service for Sustainable : BDS for Sustainable” โดย นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานสภาหอการค้าไทย และนายวัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด ร่วมสนทนา
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวถึงภาพรวมของการดำเนินให้บริการของแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมาว่า สสว. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม MSME ผ่านระบบการให้บริการสนับสนุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” มาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 แล้ว ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 17,570 ราย และมีผู้ประกอบการที่ยื่นข้อเสนอการพัฒนาแล้ว โดยมีการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน มีถึง 406 บริการ จาก 98 ผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) มีทุกสาขาบริการ เช่น ด้านมาตรฐาน, การบริหารจัดการธุรกิจ, การตลาด รวมไปถึงด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกรับบริการเพื่อพัฒนาธุรกิจได้เอง ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDSโดย สสว. พร้อมจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา SME แบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุด 200,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจ
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สสว. จะต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเข้าใจรูปแบบใหม่ของการพัฒนาธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการต้องเลือกใช้บริการเองผ่านระบบ BDS ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการให้บริการในแบบเดิม รวมทั้งต้องร่วมชำระเงินบางส่วน ซึ่งสสว.ต้องพยายามหาผู้ให้บริการทางธุรกิจที่มีบริการที่หลากหลาย ครอบคลุมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ
ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการทางธุรกิจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 98 ราย รวม 406 บริการ ดังที่เรียนไป เพื่อให้ครอบคลุม 5 หมวดบริการ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและบริหารธุรกิจ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด
ผอ.สสว. กล่าวต่อไปว่า ในปี 2567 สสว. จะมุ่งเน้นการเปิดให้บริการเพิ่มเติมด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มเป็นการกีดกันสินค้าและบริการ ผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ เช่น European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) จะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นการส่งเสริม และยกระดับด้านมาตรฐาน หรือสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy และการผลักดันให้มีการนำธุรกิจเพื่อให้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transformation) เพื่อการยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goal (SDGs) ซึ่งปัจจุบัน ระบบ BDS มีบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้คำปรึกษาในการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินท์ภายในสถานประกอบการ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ CFO) การทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ CFO) และการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอน (คาร์บอนฟุตพริ้นต์) และขึ้นทะเบียนและการรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยบริการดังกล่าวมีค่าบริการค่อนข้างสูง ตั้งแต่ราคา 100,000 - 500,000 บาท ดังนั้น หากผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการใช้บริการผ่านระบบ BDS จะทำให้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ 50-80% หรือ สูงสุดถึง 200,000 บาท
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ เมื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เป็นที่น่าสนใจต่อ SME อย่างยิ่ง เนื่องเพราะมาตรการดังกล่าว เป็นโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDS) อุดหนุนค่าใช้จ่ายให้ในการพัฒนาเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่ายในสัดส่วน 50-80% ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท จนถึงเดือนกันยายน 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
• ผู้ประกอบการขนาดกลาง (M) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี ภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50% หรือไม่เกิน 200,000 บาท
• ผู้ประกอบการขนาดย่อม (S) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% หรือไม่เกิน 200,000 บาท
• ผู้ประกอบการ (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% ไม่เกิน 50,000 บาท
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิ์ได้ 2 ครั้ง ต่อปี โดยมุ่งเน้นกิจกรรมผ่านโครงการ BDS ซึ่งเพิ่มหมวดการพัฒนาเป็น 5 หมวด ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและบริหารธุรกิจ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและตลาดและการพัฒนาสู่ตลาดต่างประเทศ
ผอ.สสว. เผยว่า สสว. ได้มีการปรับปรุงระบบเพื่อลดขั้นตอนการใช้บริการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ลดทอนระยะเวลาการดำเนินงาน อนุมัติได้รวดเร็วขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูล SME One ID ของหน่วยงานรัฐ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ฯลฯ ทำให้สามารถจัดกลุ่มผู้ประกอบการได้รวดเร็วขึ้น ลดปริมาณเอกสารแนบที่ใช้ในการสมัครให้น้อยลง ขณะที่ แพลตฟอร์มดำเนินงาน ได้มีการจัดทำหมวดหมู่และเมนูลัด เพื่อให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มภาคการค้าและบริการ สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเลือกบริการบนระบบได้รวดเร็ว มีการเชื่อมกับระบบ Train the coach เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกขอรับคำปรึกษา แนะนำในการพัฒนาธุรกิจ หรือการเลือกใช้บริการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน จากที่ปรึกษาเฉพาะด้าน ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ประกอบการ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ มีขั้นตอนง่ายๆ โดยจะต้องเป็นสมาชิก ONE ID ก่อน เพื่อสามารถยืนยันตัวตนได้ แต่หากยังไม่ได้เป็นสมาชิก ให้คลิกเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://bizportal.go.th/ จากนั้น ยืนยันตัวตน แล้วรอฟังผล เมื่อทราบผลแล้วก็สามารถ ยื่นข้อเสนอ รออนุมัติและทำสัญญา โดยลงนามในสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ BDS หรือลงนามในสัญญาด้วยตนเอง ณ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (OSS) ทั่วประเทศ เพียงเท่านี้ ก็สามารถเริ่มรับบริการและชำระค่าใช้จ่าย และเข้าสู่ระบบ การรับตังได้คืนในลำดับต่อไป ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฮอตไลน์ สสว. โทร.1301 หรือ โทร.02-298-3051
ในภาคบ่าย ได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ให้บริการทางธุรกิจในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (BDS) ระหว่างกัน โดยบอกเล่าถึงทิศทางการดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปี 2567 พร้อมเจาะลึกขั้นตอนการดำเนินงานบนระบบ BDS เริ่มจาก ผู้ให้บริการทางธุรกิจ BDSP ที่สนับสนุนข้อมูลพื้นฐานบนระบบ BDS เช่น ข้อมูลหน่วยงาน ผู้ประสานงาน เป็นต้น, การขึ้นทะเบียนบริการบนระบบ BDS และการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน (กรณีโอนสิทธิ) ส่วนเรื่องเกี่ยวกับ ผู้ประกอบการ SME จะแนะนำการยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการ, การยื่นเสนอการพัฒนาบนระบบ BDS, การทำสัญญา และการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน
* * * * * * * *
สสว. เคียงข้าง SME คู่คิดที่ดีผู้ประกอบการไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : เจริญไชย จารุกะกุล ส่วนสื่อสารองค์การ สสว.
โทร. 081 615 5450/ 02 298 3201 อีเมล charoenchai@sme.go.th
ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์ : มณีรัตน์ มีรัตน์ (ฝน)
โทร. 063 915 6999 Email: mmaneerat@madeemarketing.com, rain_0109@hotmail.com
0 Comments